Code Calendar by zalim-code.com

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

ครูตามแนวพระราชดำริ


ครูตามแนวพระราชดำริ


ในการปฏิรูปการศึกษา ยอมรับกันว่าจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปครู เพราะครูเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จอันสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา มีนักวิชาการหลายท่านนำเสนอว่า ครูในอนาคตจะต้องเป็นครูที่มีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ของระดับคุณภาพครูที่เป็นสากล แต่ก็ยังมีข้อแย้งกันอยู่จากนักวิชาการบางฝ่ายที่เห็นว่าการมองระดับคุณภาพครู โดยพิจารณาเฉพาะความรู้ความสามารถนั้น อาจจะขาดคุณลักษณะอันสำคัญของความเป็นครูที่แท้จริงได้
                แท้ที่จริงแนวคิดตามคติไทยของเรา ที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของครูที่ดีนั้นสมควรที่จะได้ศึกษาประกอบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดที่เกี่ยวกับครูตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
                การศึกษาแนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับครูนั้น สามารถศึกษาได้ทางหนึ่ง คือ ศึกษาจากพระบรมราโชวาท และพระราชดำริที่พระราชทานไว้ในโอกาสต่างๆตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนสรุปเป็นคุณลักษณะของครู ดังจะได้นำเสนอในสาระสำคัญต่อไปนี้

                1. ครูต้องเน้นที่คุณธรรม

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ในหลายโอกาสเกี่ยวกับคุณลักษณะของความเป็นครู ที่ทรงเน้นว่าครูจะต้องมีคุณธรรม เช่น พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษาในปี พ.. 2502 ที่ว่า

“…ข้าพเจ้าเชื่อว่านิสิตนักศึกษา ซึ่งสำเร็จการศึกษาไปในคราวนี้ควรจะได้มีคุณธรรม ศีลธรรม และวัฒนธรรมเป็นทุนอยู่บ้างแล้ว แต่ในฐานะที่ต้องออกไปทำหน้าที่ครูของผู้อื่น ท่านจำเป็นจะต้องสร้างสมธรรมะต่างๆให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น และรู้จักวางตัวให้สมกับเป็นผู้มีหน้าที่สั่งสอนและอบรมเยาวชน ควรจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และช่วยกันขจัดปัญหาเยาวชนให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว และส่งเสริมให้เยาวชนได้เป็นครู ที่มีสัมมาอาชีพและความประพฤติดี เพื่อเป็นกำลังในการที่จะสร้างประเทศชาติต่อไป…”
                หรือพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2503 ได้ทรงเน้นคุณลักษณะในการอบรมเด็กในด้านศีลธรรมเป็นสำคัญด้วย ดังที่ว่า

                “…ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่แต่ว่ามีความรู้ในทางวิชาการ และในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรม จรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่และฐานะเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไปข้างหน้า การให้ความรู้ หรือที่เรียกว่าการสอนนั้นต่างกับการอบรม การสอนคือการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่วนการอบรมเป็นการฝึกจิตใจของผู้เรียนให้ซึมซาบจนติดเป็นนิสัย ขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าสอนแต่อย่างเดียว ให้อบรมความรู้ดังกล่าวมาแล้วด้วย…”

                นอกจากนั้น ในพระบรมราโชวาทอีกหลายครั้ง พระองค์ก็ได้เน้นให้ครูยึดมั่นอยู่ในคุณธรรม และศีลธรรมเสมอ ดังพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม2505 ที่ว่า
                “…การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญยิ่งที่มนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดาอันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับความรู้สูง และอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบไป งานของครูจึงเป็นงานที่สำคัญยิ่ง ท่านทั้งหลายซึ่งจะออกไปทำหน้าที่ครู จะต้องยึดมั่นอยู่ในหลักศีลธรรมและพยายามถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เด็กให้ดีที่สุดที่จะทำได้ นอกจากนี้ จงวางตนให้สมกับที่เป็นครูให้แก่นักเรียนมีความเคารพนับถือ และเป็นที่เลื่อมใสไว้วางใจของผู้ปกครองนักเรียนด้วย…”
                หรือพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ครูอาวุโสประจำปี 2522 ที่ว่า

                “…ครูที่แท้จริงเป็นผู้ทำแต่ความดี คือ ต้องหมั่นขยัน และอุสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่น อดกลั้นและอดทน ต้องรักษาวินัย สำรวม ระวังความประพฤติของตนให้อยู่ในแบบแผนที่ดีงาม ต้องปลีกตัวปลีกใจจากความสะดวกสบาย และความสนุกรื่นเริงที่ไม่สมควรแก่เกียรติภูมิของตน ต้องตั้งใจให้มั่นคงแน่วแน่ ต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ ต้องเมตตา หวังดี  ต้องวางใจเป็นกลางไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ  ต้องอบรมปัญญาให้เพิ่มพูนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ทั้งด้านวิทยาการและความฉลาดรอบรู้ในเหตุผล…”

                จากพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสที่อัญเชิญมา จะเห็นว่าในเรื่องความเป็นครูนั้น พระองค์จะทรงเน้นในเรื่องของครูดี ซึ่งได้แก่ ความมีคุณธรรม ขยัน หมั่นเพียร เสียสละ อดทน และอดกลั้น รวมทั้งรักษาวินัย และสำรวมระวังความประพฤติให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงามเป็นประการสำคัญ

                2. ครูจะต้องประพฤติตัวให้เป็นที่รักเคารพของนักเรียน

                คุณลักษณะของครูที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ตามแนวพระราชดำริ คือ ครูจะต้องทำตัวให้เป็นที่รักเคารพของนักเรียน รวมทั้งประพฤติตนเป็นแบบอย่างดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะครูโรงเรียนวังไกลกังวล ในโอกาสที่เข้ารับพระราชทานรางวัล เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2521 ว่า
                “…สำหรับครูนั้นก็จะต้องทำตัวให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ เป็นที่เชื่อใจของนักเรียนคือข้อแรก ต้องฝึกฝนตนเองให้แตกฉานและแม่นยำ ชำนาญทั้งในวิชาความรู้ และวิธีการสอน เพื่อสามารถสอนวิชาทั้งปวงได้โดยถูกต้องกระจ่าง และครบถ้วนสมบูรณ์ อีกข้อหนึ่ง ต้องทำตัวให้ดี คือต้องมี และแสดงความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต ความสุภาพ ความเข็มแข็งและอดทนให้ปรากฏชัดเจน จนเคยชินเป็นปรกติวิสัย เด็กๆจะได้เห็น ได้เข้าใจในคุณค่าของความรู้ในความดี และในตัวครูเองอย่างซาบซึ้ง และยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง ภารกิจของครู คือการให้ศึกษาก็จะได้บรรลุตามที่มุ่งหวัง…”

                และพระบรมราโชวาทแก่คณะครู นักเรียน โรงเรียนวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2524 ที่ว่า

                “…ในส่วนครูนั้น ก็จำเป็นที่ต้องทำตัวให้ดี เป็นที่เคารพรักใคร่ และเชื่อถือได้สนิทใจ ข้อหนึ่งจะต้องฝึกฝนตนเองให้แตกฉานและแม่นยำ ชำนาญ ทั้งในด้านความรู้และวิธีสอน เพื่อสามารถสั่งสอนได้อย่างแจ่มกระจ่างและถูกต้องสมบูรณ์ อีกข้อหนึ่งจะต้องฝึกหัดจิตใจของตนเองให้เข็มแข็งหนักแน่น สุจริต ซื่อตรง ประกอบด้วยเมตตากรุณา ความสุภาพ อ่อนโยน จะได้นำศิษย์ให้มองเห็น ซึ้งและประทับใจในความสามารถและความดีของครูแล้วกำหนดจดจำเป็นแบบฉบับ การให้การศึกษาก็จะบรรลุผลครบถ้วนตามจุดประสงค์…”

                จากที่ได้นำเสนอมานั้น สะท้อนถึงแนวพระราชดำริเกี่ยวกับครูที่จะต้องประพฤติตัวให้ดี เป็นที่รัก ที่เคารพสำหรับนักเรียน นอกจากนั้นครูจะต้องประพฤติให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้ศิษย์ได้เห็นแบบอย่างด้วย ซึ่งการประพฤติเป็นแบบอย่างนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับครู ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2522 ที่ว่า

                “…ไม่ว่าจะสอนเด็กวัยใด ลักษณะใด ผู้สอนจะต้องลงมือประพฤติเป็นตัวอย่างด้วยตนเองให้ได้เห็นอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ละเลยความประพฤติปฏิบัติที่ต้องการจะให้เกิดมีในตัวเด็กเป็นอันขาด…”

                3. ครูต้องอดทน เสียสละ และมีความเมตตา


เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบัน  ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น รวมทั้งในส่วนของเด็กด้วย ทำให้ครูทำงานได้ยากขึ้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล็งเห็นว่างานของครูเป็นงานที่ยาก และต้องใช้ความอดทนเสียสละมาก และจะต้องให้ความเมตตาแก่ศิษย์ ดังพระราชทานแก่คณะครูอาวุโส เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2513 ที่ว่า

“…งานของครูนั้น เป็นงานที่ยากและต้องใช้ความอดทนเสียสละมากยิ่งในปัจจุบันยิ่งยากขึ้นทุกที เพราะเกิดมีความคิดใหม่อยู่เสมอ เช่นว่าเด็กต้องมีความคิดริเริ่มมาก แต่ความคิดริเริ่มซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนั้น โดยมากไปแปลเป็นว่า จะต้องมีความคิดที่จะล้างครู ความคิดอันนี้เป็นความคิดที่รู้สึกว่าจะไม่ค่อยดีนัก แต่เราก็ต้องรับว่ามีเพื่อแก้ปัญหานี้ มิใช่ว่าครูจะต้องทำตัวไม่ดี เพื่อให้สอดคล้องกับการยุแหย่ ตรงข้ามครูยังต้องเสียสละ ยิ่งต้องทำงานหนัก และทำด้วยความเฉลียวฉลาดขึ้น….

ปัญหาเรื่องการกระด้างกระเดื่องของฝ่ายลูกศิษย์ต่อครูนั้น มีทางแก้อย่างเดียว คือ ความโอบอ้อมอารี และความอดทนของครู จะไปด่าว่าเด็กเป็นผู้ร้ายเป็นคนไม่ดีก็ไม่สมควรนัก ความจริงผู้ใหญ่ และโดยเฉพาะครูก็มีหน้าที่ที่จะให้ความเมตตาและเมื่อลูกศิษย์ทำอะไรไม่ดีก็ต้องอดทนและสั่งสอน แม้จะถูกด่า ถ้าเช่นนี้ในที่สุด ผู้เป็นลูกศิษย์ก็จะเห็นความดี และความดีนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยบ้านเมืองให้รอดพันอันตรายไปได้ ถ้าหากว่าครูเห็นเด็กกระด้างกระเดื่องมากแล้วเกิดไม่ดี น้อยใจแล้วไม่ทำหน้าที่ครูละทิ้งหน้าที่ครู ขาดความเมตตา หรือเกิดความท้อใจอย่างหนัก อนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีผู้ที่ให้ความรู้แก่เด็ก ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มครูที่เรียกว่าเป็นครูสอนเด็กๆ การสอนของครูมีความสำคัญยิ่งกว่าในกลุ่มครูที่อยู่ในชั้นมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ…”

4. ครูไม่ควรมุ่งยศศักดิ์ ความร่ำรวย และผลตอบแทนทางวัตถุ


สิ่งหนึ่งที่มักจะพูดกันมากในสังคมปัจจุบัน คือ การแสวงหายศศักดิ์ ความร่ำรวย และผลตอบแทนที่เป็นวัตถุ แต่สำหรับผู้ที่เป็นครูนั้น ผลตอบแทนมิใช่อยู่ที่ยศศักดิ์ ความร่ำรวย และสิ่งที่เป็นวัตถุทั้งหลาย หากเป็นผลตอบแทนทางจิตใจดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ครูอาวุโสในโอกาสที่เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2516 ที่ว่า….

“….งานครูเป็นงานพิเศษ ผิดแปลกกว่างานอื่นๆ กล่าวในแง่หนึ่งที่สำคัญ ก็คือว่า ครูจะหวังผลตอบแทนเป็นยศศักดิ์ ความร่ำรวย หรือประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้งไม่ได้ ผลได้ส่วนสำคัญเป็นผลทางใจ ซึ่งครูแท้ก็พึ่งใจ และภูมิใจอยู่แล้ว ดูเหมือนจะภูมิใจยิ่งกว่าข้าวของเงินทอง และยศศักดิ์เสียอีก ถึงแม้ผู้ใดใครก้อตามเมื่อมองให้ลึกซึ้งแล้ว ก็ย่อมเห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะความมั่งมีและความยิ่งใหญ่ไม่อาจบันดาล หรือซื้อหาความผูกพันทางใจอันแท้จริงจากผู้ใดได้ แต่ความเป็นครูนั้น ผูกพันใจคนไว้ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องซื้อหาหรือใช้อำนาจราชศักดิ์ข่มขู่เอา ขึ้นชื่อว่าครูกับศิษย์แล้ว ที่จะลืมกันได้นั้นยากนัก ผู้ที่ไม่รู้จัก ไม่เอื้อเฟื้อครู ดูเหมือนมีแต่คนที่กำลังลืมตัวมัวเมาในลาภยศอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เท่านั้น ฉะนั้นครูจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องแสวงหาความพอใจในประโยชน์ทางวัตถุให้มากจนเกินจำเป็น เพราะหากหันมาหาประโยชน์กันทางวัตถุกันจนเกินไปแล้วก็จะทำหน้าที่ครูหรือเป็นครูไม่เต็มที่

ในทุกวันนี้การปฏิบัติของครูบางหมู่ ทำให้รู้สึกกันทั่วไปว่า ครูไม่ค่อยห่วงผลประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงยศ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และที่ค่อนข้างร้ายอยู่คือ ห่วงรายได้ ความห่วงในสิ่งเหล่านี้ ถ้าปล่อยไว้จะค่อยๆ เข้ามาทำลายครูทีละเล็กละน้อย ซึ่งเชื่อว่าที่สุดจะสามารถบั่นทอนทำลายความมีน้ำใจ ความเมตตา ความเสียสละทุกอย่างได้ ทำให้กลายเป็นคนขาดน้ำใจ ละโมบ เห็นแก่ตัว ลืมประโยชน์ของศิษย์ กล่าวสั้นคือ จะไม่มีอะไรดีเหลือพอที่จะเคารพนับถือกันได้ เป็นที่น่าวิตกกว่าครูเหล่านั้น จะผูกพันใจใครไว้ได้อย่างไร จะทำงานของตัวให้บรรลุผลสำเร็จที่แท้จริงได้อย่างไร และจะมีอะไรเกิดขึ้นแก่การศึกษาของเรา…”
และพระองค์ได้ทรงเน้นในพระบรมราโชวาทอีกหลายครั้ง กล่าวคือ

“…ทุกคนที่ทำงาน ย่อมต้องหวังประโยชน์ เช่น เงินทอง ยศศักดิ์ อำนาจ ความร่ำรวย เป็นสิ่งตอบแทน สำหรับครูที่รักการเป็นครูแท้จริง มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ที่ล้ำค่ายิ่งกว่านั้น แต่เป็นประโยชน์ที่เป็นไปในทางจิตใจยิ่งกว่าทางวัตถุ กล่าวคือ ครูตามแบบฉบับมักจะมิได้เป็นผู้ที่บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ด้วยยศศักดิ์ อำนาจ และอิทธิพลนัก หากแต่บริบูรณ์ด้วยสมบัติทางคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความเมตตาปราณี ความเสียสละ ซึ่งเป็นเหตุทำให้สามารถผูกพันจิตใจผู้เป็นศิษย์ให้รักใคร่ไว้ใจ และเคารพเชื่อฟังได้แน่นแฟ้นและสามารถที่จะสั่งสอนถ่ายทอดทั้งวิชาความรู้ ทั้งจิตใจ และมารยาทที่ดี ให้แก่ศิษย์ได้พร้อมมูล ทำให้ศิษย์มีความฉลาดรอบรู้ มีความนอบน้อม  ซึ่งมิใช่นอบน้อมเพียงแต่กับผู้ใหญ่  หากรวมถึงนอบน้อมนับถือในกันและกัน อันจะทำให้เข้าใจกันและเอื้อเฟื้อสนับสนุนกัน เพื่อให้งานส่วนรวมดำเนินไปได้สะดวก ทั้งรู้จักสร้างสรรค์สังคมที่ดีต่อไปได้ ดังนั้น ถ้าพิจารณากันให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่าประโยชน์ดังกล่าวแล้ว เป็นประโยชน์ที่แน่นอนยั่งยืน และทำให้เกิดความสุขสบายได้ดียิ่งกว่าทรัพย์ ยศ และอำนาจ หรืออิทธิพลใดๆหมด

แต่เดี๋ยวนี้ ความนิยมห่วงใยในสมบัติของครูดูจะเรียวลง อาจทำให้ผู้เป็นครูไม่ได้รับความสุขความอิ่มใจในการเป็นครูเต็มภาคภูมิ อาจทำให้ครูไม่สามารถสอนศิษย์ให้มีคุณสมบัติดีพร้อมดังแต่ก่อน ซึ่งที่สุดย่อมทำให้สังคมเสื่อมลง ยุ่งยาก คลอนแคลน และไปไม่รอด…”
( พระบรมราโชวาทในโอกาสที่คณะครูอาวุโสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ณ พระตำหนักจิตรลดาโหฐาน วันที่ 4 พฤศจิกายน 2518 )

                5. ครูต้องยึดมั่นในคุณความดี

แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับครูประการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทรงถือว่าครูจะต้องยึดมั่นในคุณความดี ดังปรากฏในพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสต่อไปนี้

                “…ความเป็นครูนั้น  ประกอบขึ้นด้วยสิ่งที่มีคุณค่าสูงหลายอย่าง อย่างหนึ่งได้แก่ ปัญญา คือ ความรู้ที่ดีประกอบด้วยหลักวิชาอันถูกต้องที่แน่นแฟ้น กระจ่างแจ้งในใจ รวมทั้งความฉลาดที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ตลอดจนกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างได้โดยถูกต้องด้วยเหตุผล อย่างหนึ่ง ได้แก่ ความดี คือ ความสุจริต ความเมตตากรุณา เห็นใจ และปรารถนาดีต่อผู้อื่นโดยเสมอหน้า อีกอย่างหนึ่งได้แก่ ความสามารถที่จะเผื่อแผ่และถ่ายทอดความรู้ความดีของตนเองไปยังผู้อื่นได้รับประโยชน์ด้วย กล่าวคือ ความแจ่มแจ้งแน่ชัดในใจย่อมส่องแสดงความรู้ออกมาให้เข้าใจตามได้โดยง่าย และความหวังดีโดยบริสุทธิ์ใจย่อมน้อมนำให้เกิดศรัทธาแจ่มใส มีใจพร้อมที่จะรับความรู้ความดีด้วยความชื่นบาน ทั้งพร้อมจะร่วมงานด้วยโดยเต็มใจและมั่นใจ โดยนัยนี้ผู้ที่ได้รับแสงสว่างแห่งความเป็นครูชุบย้อมกายใจแล้ว จึงเป็นผู้ใฝ่หาความรู้ใฝ่หาความดี ทั้งตั้งใจและเต็มใจที่จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้อื่นโดยบริสุทธิ์จะประกอบกิจการใด ก็จะทำให้กิจการนั้นดำเนินไปโดยสะดวกราบรื่นและสำเร็จประโยชน์ที่มุ่งหมายได้โดยสมบูรณ์ ผู้ที่มีความเป็นครูสมบูรณ์ในตัวนอกจากจะมีความดีด้วยตนเองแล้ว จึงยังจะช่วยให้ทุกคนที่มีโอกาสเข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องบรรลุถึงความดีความเจริญไปด้วย…”

(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูอาวุโส ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522)

“…งานครูนั้น ว่าถึงฐานะ ตำแหน่ง ตลอดจนรายได้ ดูออกจะไม่ทัดเทียมงานอื่นหลายๆ อย่าง แต่ถ้าว่าถึงผลอันแพร่หลายยั่งยืนแล้วจะต้องถือว่าอยู่เหนือกว่างานด้านอื่นทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะครูเป็นผู้ให้ความรู้ความดีและความสามารถนานานประการแก่ศิษย์ เป็นสมบัติอันประเสริฐติดต่อศิษย์ไปสำหรับที่จะนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวม และครูแต่ละคนนั้น ต่างได้แผ่ความเมตตาสั่งสอนศิษย์นับจำนวนพันจำนวนหมื่นให้เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน จึงพูดได้เต็มปากว่าครูมีผลงานการสร้างสรรค์อย่างสูง พร้อมทั้งมีเมตตากรุณาต่อคนทั้งหลายอย่างกว้างขวางไม่มีประมาณเป็นเหตุให้คนไทยเคารพยกย่องครูอย่างยิ่ง ถือเป็นบุพการีที่แท้จริงเป็นที่สองรองแต่บิดามารดาเท่านั้น ท่านทั้งหลายมีโชคดีได้มาเป็นครู และได้ปฏิบัติหน้าที่สำเร็จสมบูรณ์ดีแล้วทุกอย่างเช่นนี้ น่าจะมีความภาคภูมิใจ ทั้งมีความยินดีพอใจที่จะปฏิบัติบำเพ็ญคุณธรรมความดีของครูให้เพียบพร้อมยิ่งขึ้นเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของความเป็นครูไว้ ให้เป็นแบบฉบับแก่คนรุ่นหลังสำหรับประพฤติปฏิบัติต่อตามกันสืบไปตลอดกาลนาน…”

(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ครูอาวุโส ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2524)